ประวัติ ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

ประวัติ ของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

            หลวงพ่อเงินชื่อเดิมของท่านชื่อ “เงิน”ในสมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๓๕๓ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๑๐ ปีฉลู บิดาของหลวงพ่อเงินชื่อ “อู๋”ซึ่งเป็นชาวบ้านบางคลาน มารดาชื่อ “ฟัก”เป็นชาวบ้านแสนตอ อำเภอแสนตอ(ปัจจุบันเป็นอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี) จังหวัดกำแพงเพชร หลวงพ่อเงิน มีพี่น้องร่วมสาย

โลหิตทั้งหมด ๖ คน ดังนี้
คนที่ ๑ ชื่อ พรม(ชาย)
คนที่ ๒ ชื่อ ทับ(หญิง)
คนที่ ๓ ชื่อ ทอง(ขุนภุมรา) (ชาย)
คนที่ ๔ ชื่อ เงิน(หลวงพ่อเงิน)
คนที่ ๕ ชื่อ หลํ่า(ชาย)
คนที่ ๖ ชื่อ รอด(หญิง)
ในปี พ.ศ. ๒๓๕๖ ขณะนั้นหลวงพ่อเงินอายุได้ ๓ ขวบ นายช่วงซึ่งเป็นลุงของท่านได้พาหลวงพ่อเงิน ไปอยู่กรุงเทพฯด้วยนายช่วงได้อุปการะเลี้ยงดูหลวงพ่อเงินจนกระทั่งเติบโตมีอายุจะเข้าศึกษาเล่าเรียนได้จึงได้นำหลวงพ่อไปฝากไว้ที่วัดตองปุ (วัดชนะสงคราม) จังหวัดพระนคร หลังจากนั้นท่านก็ได้เรียนหนังสือที่วัดชนะสงคราม ตลอดมาจนกระทั่งถึงปี พ.ศ.๒๔๖๕ ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรขณะนั้นอายุได้ ๑๒ ปี หลังจากบรรพชาเป็นสามเณรแล้ว ก็ได้ศึกษาธรรมวินัยและเวทมนต์คาถาอาคมต่าง ๆ จนถึงขั้นแตกฉาน พออายุใกล้จะอุปสมบทได้ท่านก็สึกจากสามเณรเป็นฆราวาส


หลังจากที่ท่านได้สึกจากสามเณรแล้ว ก็มาอยู่กับพี่ชายและพี่สะใภ้ ต่อมาท่านได้มีคู่รักคนหนึ่ง ชื่อ “เงิน”เหมือนกันกับท่าน สมัยก่อนนั้นหนุ่มสาวรักกันจะหาโอกาสพบกันได้ยากมากจะได้พบกันก็เนื่องจาก วันพระไปทำบุญตักบาตรเท่านั้น และวันหนึ่งจะด้วยเหตุดลใจอะไรไม่มีใครรู้ได้ ท่านได้คุยกับพี่สะใภ้ถึงเรื่องการแต่งงาน พี่สะใภ้ก็พูดล้อเล่นว่าอย่าแต่งงานเลยบวชดีกว่า เมื่อได้ยินพี่สะใภ้พูดอย่างนั้น ท่านจึงขอโทษพี่สะใภ้ ขอจับ “นม” พี่สะใภ้ก็ให้จับแต่โดยดี เมื่อหลวงพ่อเงินจับนมพี่สะใภ้แล้ว ก็เอามือมาบีบน่องของตนเองแล้วก็อุทานว่า “นม” กับ “น่อง”ก็เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้หลวงพ่อเงินตัดสินใจบวชไม่สึกเลยจนกระทั่งมรณภาพเมื่ออายุครบปีบวชท่านก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดตองปุ(วัดชนะสงคราม) และได้จำพรรษาอยู่ณ วัดนี้ ในระหว่างอุปสมบทได้ปฏิบัติธรรมวินัยและรํ่าเรียนทางวิปัสสนาอยู่ได้ ๓ พรรษาหลังจาก ท่านอุปสมบทคู่รักท่านได้ปักตาลปัตรมาถวายท่าน ๑ อันต่อมาปู่ของท่านป่วยหนัก ทางบ้านจึงให้พี่ชายชื่อทองไปนิมนต์หลวงพ่อเงินให้มาจำพรรษาที่วัดคงคาราม(วัดบางคลานใต้) หลวงพ่ออยู่วัดนี้ได้ ๑ พรรษา
เนื่องจากวัดนี้ มีหลวงพ่ออุปัชฌาย์โห้เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระที่เรืองวิชาเหมือนกันชอบเล่นแร่แปรธาตุ นอกจากนี้หลวงพ่ออุปัชฌาย์ท่านยังชอบเทศน์ชาดก(แหล่เป็นทำนอง) การซ้อมแหล่ของหลวงพ่ออุปัชฌาย์โห้เสียงดัง หลวงพ่อเงินคงจะไม่พอใจ เพราะท่านเป็นพระที่เคร่งทางธรรมวินัย และวิปัสสนา ชอบแต่ความสงบเพื่อผลทางวิปัสสนากรรมฐาน ท่านจึงได้ย้ายวัดจากวัดคงคารามไปอยู่ที่หมู่บ้าน วังตะโก ลึกเข้าไปทางลำนํ้าน่านเก่าห่างจากวัดคงคารามคนละฝั่งแม่นํ้ายม
วัดวังตะโกเมื่อออกจากวัดคงคารามแล้ว หลวงพ่อก็มาปลูกกุฏิด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก อยู่ที่หมู่บ้าน วังตะโก หลวงพ่อเคยพูดว่า “ชาติเสือไม่ต้องขอเนื้อใครกิน”ก่อนที่หลวงพ่อจะออกจากวัดคงคารามได้นำกิ่งโพธิ์จากวัดมาด้วย๑ กิ่ง มาปักไว้ที่หน้าตลิ่ง(ตรงกับที่หน้าพระอุโบสถ) พร้อมกันนั้นหลวงพ่อได้ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าจะเจริญรุ่งเรืองขอให้ต้นโพธิ์นี้เจริญงอกงามแผ่กิ่งก้านสาขากว้างใหญ่ กาลต่อมาปรากฏว่าต้นโพธิ์ของท่านได้เจริญงอกงาม สมดังคำอธิษฐานนับตั้งแต่นั้นตลอดมาวัดวังตะโกหรือวัดหิรัญญารามก็เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ มีการสร้างกุฏิด้วยไม้สักหลังคามุงด้วยกระเบื้อง หลายหลัง มีศาลาวิหารและพระอุโบสถชื่อเสียงของหลวงพ่อได้ขจรไปทั่วทุกทิศานุทิศ มีประชาชนเคารพนับถือท่านมาก มีคนมาหาท่านมิได้ขาดเพื่อถวายตัวเป็นลูกศิษย์ เพื่อขอเครื่องรางของขลัง เพื่อรักษาโรคภัยไข้เจ็บ เพื่ออาบนํ้ามนต์ มีเรื่องเล่าว่านํ้ามนต์ของท่านที่ประชาชนอาบไหลลงสู่แม่นํ้าไม่ขาดสายต่อมาหลวงพ่อได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ และได้รับสมณศักดิ์ให้เป็นท่านเจ้าคุณฝ่ายวิปัสสนาจารย์
ลักษณะเด่นประจำตัวของหลวงพ่อตามปกติหลวงพ่อจะออกมานั่งรับแขกที่หน้ากุฏิมิได้เบื่อหน่าย การนั่งที่ท่านชอบมากที่สุดคือ นั่งขัดสมาธิ เข่าด้านซ้ายจะยกขึ้นนิดหน่อย ในขณะที่หลวงพ่อนั่งคุยกับแขกมักจะถือบุหรี่ตลอดเวลา แต่ถ้านั่งทำนํ้ามนต์ หลวงพ่อจะเอาบุหรี่คีบไว้ที่ง่ามเท้าขวาตลอดเวลา ถ้าบุหรี่ดับก็หยิบขึ้นมาจุดสูบใหม่ นี่คือลักษณะพิเศษของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น